สถานที่ท่องเที่ยวภาคเหนือ

อุทยานแห่งชาติดอยขุนตาล

มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน อำเภอห้างฉัตรและอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง สภาพพื้นที่เป็นป่าเขา อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ ๑๕๙,๕๕๖ ไร่ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางโดยทางรถไฟลงที่สถานีขุนตาล  เดินเท้าอีกประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานฯ สำหรับทางรถยนต์เดินทางไปตามเส้นทางลำปาง-ลำพูน (ทางหลวงหมายเลข ๑๑)  กิโลเมตรที่ ๔๗ เข้าไปประมาณ ๑๘ กิโลเมตร  อุโมงค์ขุนตาล  เป็นอุโมงค์ทางรถไฟลอดผ่านที่ยาวที่สุดในประเทศไทย มีความยาว ๑,๓๕๒ เมตร สร้างขึ้นโดยชาวเยอรมันชื่อเอมิล ไอเซนโฮเฟอร์ แต่ยังไม่แล้วเสร็จเพราะในระหว่างการสร้างอุโมงค์เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทำให้นายเอมิลเดินทางกลับประเทศ  ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๖๐ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาแห่งการรถไฟ เสด็จมาเป็นแม่งานก่อสร้างจนเสร็จในปี พ.ศ. ๒๔๖๑

เขื่อนสิริกิติ์

เขื่อนสิริกิติ์ ตั้งอยู่ที่บ้านผาซ่อม ตำบลท่าปลา เขื่อนสิริกิติ์เป็นเขื่อนดินสร้างกั้นแม่น้ำน่านที่ผาซ่อม สันเขื่อนยาว 800 เมตร กว้าง 12 เมตร สูง 113.6 เมตร บริเวณเหนือเขื่อนเป็นทะเลสาบใหญ่ที่มีชื่อว่า ทะเลสาบสุริยันจันทรา มีทิวทัศน์สวยงาม เมื่อไปถึงบริเวณเขื่อน นักท่องเที่ยวควรไปติดต่อที่ศูนย์ประชาสัมพันธ์ ซึ่งให้บริการและอำนวยความสะดวกในด้านการท่องเที่ยวบริเวณเขื่อน การจองที่พัก การเช่าจักรยาน การให้เช่าเรือท่องทะเลสาบเหนือเขื่อน อัตราค่าเช่าเรือล่องในเขื่อนสิริกิติ์คือ เรือขนาด 150 คน ค่าเช่าชั่วโมงละ 1,700 บาท และเรือขนาด 30 คน ค่าเช่าชั่วโมง 1,400 บาท นอกจากนั้นยังมีสนามกอล์ฟขนาด 18 หลุม และบ้านพักไว้บริการนักท่องเที่ยว

น้ำตกแม่พู

น้ำตกแม่พูล อยู่ที่หมู่ 4 บ้านต้นเกลือ ตำบลแม่พูล เป็นน้ำตกที่เกิดจากการตกแต่งธารน้ำ โดยการเทปูนให้น้ำไหลลดหลั่นจากบนเขาสูงลงมา ดูคล้ายน้ำตกธรรมชาติ สูงหลายชั้น สภาพโดยรอบร่มรื่น บริเวณใกล้ๆ น้ำตกเป็นสวนลางสาด บริเวณน้ำตกมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก ร้านอาหารและที่จอดรถไว้บริการ การเดินทางจากอำเภอเมืองถึงอำเภอลับแล ระยะทาง 8 กิโลเมตร จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 1043

บ่อเหล็กน้ำพี้

บ่อเหล็กน้ำพี้  อยู่ที่หมู่ 1 บ้านน้ำพี้ ตำบลน้ำพี้ ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ 56 กิโลเมตร ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 11 และเข้าทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1245 เป็นโบราณสถานซึ่งมีความสำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งเหล็กกล้า ที่นำมาทำพระแสงดาบตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมมีอยู่ด้วยกันหลายบ่อ มีบ่อหนึ่งเรียกว่า บ่อพระแสง ห้ามมิให้ผู้ใดขุดเหล็กจากบ่อนี้ โดยสงวนไว้ใช้ทำพระแสงดาบสำหรับพระมหากษัตริย์เท่านั้น และ บ่อพระขรรค์ เป็นบ่อที่ในสมัยโบราณมีช่างทำพระขรรค์ถวายพระมหากษัตริย์ ได้นำแร่เหล็กน้ำพี้จากบ่อพระขรรค์ไปถลุงทำพระขรรค์ ภายในบริเวณมี พิพิธภัณฑ์บ่อเหล็กน้ำพี้ รวบรวมหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับประวัติเหล็กน้ำพี้ โดยจัดแสดงและจำลองให้เห็นถึงกระบวนการ ขั้นตอนการตีเหล็กน้ำพี้ ตั้งแต่การขุดแร่เหล็กน้ำพี้จนตีเป็นดาบที่มีความแกร่งและความคมเป็นเลิศ ดาบน้ำพี้จึงเป็นอาวุธคู่กายของขุนศึกและนักรบไทยในสมัยโบราณตลอดมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2542 เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน เวลา 08.00 – 17.00 น. เหล็กน้ำพี้ในสมัยโบราณ นิยมนำไปตีเป็นพระแสงราชศัสตราของพระเจ้าแผ่นดิน จึงมีความเขื่อว่าเป็นเหล็กศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถแก้อาถรรพณ์ อยู่ยงคงกะพันและป้องกันภูตผีปีศาจได้เป็นอย่างดี จึงเหมาะสำหรับผุ้ที่ต้องเดินทาไปในถิ่นแปลกที่อยุ่เป็นประจำ และผู้ที่ต้องพักค้งอ้างแรมในสถานที่ต่างๆอยู่เสมอ

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก

อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก  ประดิษฐานอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติในความกล้าหาญ รักชาติและเสียสละ เมื่อครั้งพระยาพิชัยครองเมืองพิชัยในสมัยธนบุรี ท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2316 พม่ายกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัย ได้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้นดาบคู่มือของพระยาพิชัยข้างขวาได้หักไปหนึ่งเล่ม แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่า ด้วยวีรกรรมดังกล่าว จึงได้สมญานามว่า พระยาพิชัยดาบหัก  อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบและหล่อโดยกรมศิลปากร ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 บริเวณอนุสาวรีย์ฯ มีพิพิธภัณฑ์อีก 2 อาคาร คือ  พิพิธภัณฑ์ดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลกเป็นที่เก็บรักษาดาบเหล็กน้ำพี้ใหญ่ที่สุดในโลก มีน้ำหนัก 557.8 กิโลกรัม ฝักดาบทำด้วยไม้ประดู่ ฝังลวดลายมุกหุ้มปลอกเงินสลักสลาย และพิพิธภัณฑ์พระยาพิชัย ซึ่เก็บรวบรวมประวัติของพระยาพิชัยดาบหัก รวมทั้งแบบจำลอง สนามรบ และวิถีชีวิตในสมัยอยุธยาตอนปลาย เครื่องมือเครื่องใช้โบราณ อนุสาวรีย์ฯ และพิพิธภัณฑ์ เปิดให้เข้าเยี่ยมชมตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น. ทุกวัน

อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน

อุทยานแห่งชาติลำน้ำน่าน อยู่ในพื้นที่จังหวัดแพร่ น่าน และอุตรดิตถ์ เป็นทิวเขาสลับซับซ้อนประกอบด้วยป่านานาชนิดที่ยังคงความสมบูรณ์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 624,468 ไร่ ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมาก เช่น เก้ง กวาง หมูป่า หมี และสัตว์ปีกจำนวนไม้น้อยกว่า 200 ชนิด ได้รับประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2541 จุดที่สูงที่สุดของอุทยานฯ คือ ยอดเขาภูพญาพ่อ สูงถึง 1,350 เมตร ซึ่งจะมีอากาศหนาวเย็นตลอดปี มีฝนตกชุกในช่วงเดือนพฤษภาคม – กันยายน ในฤดูหนาวอากาศหนาวจัด

โครงการหลวงดอยอินทนนท์

ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านขุนกลาง ตำบลห้วยหลวง อำเภอจอมทอง เดินทางตามเส้นทางสู่ดอยอินทนนท์ ถึงบริเวณหลักกิโลเมตรที่ 31 ของทางหลวงหมายเลข 1009 มีทางแยกขวามือเป็นทางลูกรังเข้าสู่โครงการฯ อีกประมาณ 1 กิโลเมตร ผู้ขับขี่ควรมีประสบการณ์ และควรตรวจเช็คสภาพรถยนต์ก่อนเดินทาง โครงการหลวงอินทนนท์ เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อช่วยเหลือชาวไทยภูเขาให้มีพื้นที่ทำกินด้วยการปลูกพืชทดแทนฝิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้แก่กะเหรี่ยงและม้งในพื้นที่ ผลิตผลหลักของโครงการ คือ พืชผักและไม้ดอกเมืองหนาวต่าง ๆ นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวชมแปลงปลูกดอกไม้และไม้เมืองหนาวที่บ้านขุนกลาง งานวิจัยประมงที่สูงการเพาะเลี้ยงปลาเทราท์ ห้องทดลองทำการเพาะขยายพันธุ์ การทำนาขั้นบันได แปลงปลูกกาแฟ แปลงสตรอเบอรี่ที่บ้านแม่กลางหลวง เดินป่าศึกษาธรรมชาติในเส้นทางดอยหัวเสือ เส้นทางบ้านแม่กลางหลวง-น้ำตกผาดอกเสี้ยว ชมน้ำตกสิริภูมิและน้ำตกวชิรธาร และยังสามารถแวะชมแปลงปลูกดอกไม้ของชาวเขาในหมู่บ้านซึ่งอยู่บริเวณปากทางเข้าโครงการฯ เลือกซื้อผักและผลไม้เมืองหนาวปลอดสารพิษตามฤดูกาล

อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์

แต่เดิมดอยอินทนนท์มีชื่อว่า “ดอยหลวง” หรือ “ดอยอ่างกา” ดอยหลวง หมายถึงภูเขาที่มีขนาดใหญ่ ส่วนที่เรียกว่าดอยอ่างกานั้น มีเรื่องเล่าว่า ห่างจากดอยอินท นนท์ไปทางทิศตะวันตก 300 เมตร มีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งลักษณะเหมือนอ่างน้ำ แต่ก่อนนี้มีฝูงกาไปเล่นน้ำกันมากมาย จึงเรียกว่า อ่างกา ต่อมาจึงรวมเรียกว่า ดอยอ่างกา ดอยอินทนนท์นี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหิมาลัยซึ่งพาดผ่านจากประเทศเนปาล ภูฐาน พม่า และมาสิ้นสุดที่นี่ สิ่งที่น่าสนใจของดอยนี้ไม่เพียงแต่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดในประเทศด้วยความสูง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลางเท่านั้น แต่สภาพภูมิประเทศและสภาพป่าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ และอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปีโดยเฉพาะในฤดูหนาวจะมีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวันและบางครั้งน้ำค้างยังกลายเป็นน้ำค้างแข็ง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเสน่ห์ดึงดูดให้มีผู้มาเยือนที่นี่อย่างไม่ขาดสาย

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

ดินทางตามถนนห้วยแก้ว ผ่านอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ไปตามทางคดเคี้ยวขึ้นเขา ระหว่างทางจะมองเห็นตัวเมืองเชียงใหม่อยู่เบื้องล่าง ระยะทางจากเชิงดอยถึงวัดประมาณ 11 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง วัดพระธาตุดอยสุเทพนี้เป็นปูชนียสถานคู่เมืองเชียงใหม่นับตั้งแต่โบราณกาล นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางมาที่จังหวัดนี้จะต้องขึ้นไปนมัสการพระบรมธาตุกันทุกคน ถ้าหากใครไม่ได้ขึ้นไปนมัสการแล้ว ถือเสมือนว่ายังมาไม่ถึงเชียงใหม่ ตามประวัติแห่งดอยสุเทพนั้นเชื่อกันว่า เดิมภูเขาแห่งนี้เป็นที่อยู่ของฤาษีนามว่า “สุเทวะ” ซึ่งตรงกับคำว่าสุเทพอันเป็นที่มาของชื่อดอยสูงแห่งนี้ โดยวัดพระธาตุดอยสุเทพนี้สร้างขึ้นเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 6 เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้ทรงอัญเชิญมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงแยกพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นสองส่วน โดยอัญเชิญองค์หนึ่งบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก ส่วนอีกองค์หนึ่งได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างมงคล โดยพระเจ้ากือนาธรรมิกราชทรงตั้งจิตอธิษฐานเสี่ยงทายว่าหากช้างเชือกนั้นหยุดลงตรงที่ใดก็จะให้สร้างพระธาตุขึ้น ณ ที่แห่งนั้น ซึ่งช้างเชือกดังกล่าวได้มาหยุดลงตรงยอดดอยสุเทพแห่งนี้ โดยทำทักษิณาวรรตสามรอบก่อนที่จะล้มลง (ตาย) ดังนั้นพระเจ้ากือนาธรรมิกราชจึงทรงรับสั่งให้สร้างพระบรมธาตุอันเป็นที่ประดิษฐานองค์พระบรมสารีริกธาตุ ณ ยอดดอยสุเทพ อยู่คู่ฟ้าคู่ดินเชียงใหม่มานับแต่นั้น วัดพระธาตุดอยสุเทพตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชียงใหม่

พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์

ตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง ใช้เส้นทางเดียวกันกับพระธาตุดอยสุเทพ พระตำหนักฯอยู่เลยจากวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร พระตำหนักภูพิงค์ฯ เป็นพระตำหนักประทับในวโรกาสที่เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในเขตภาคเหนือ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ใช้เป็นที่รับรองพระราชอาคันตุกะที่เสด็จฯเยือนประเทศไทยซึ่งแต่เดิมจะประทับรับรองแต่ในพระนครหลวงเท่านั้น โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2504 ในครั้งแรกได้ก่อสร้างเฉพาะองค์พระตำหนักที่ประทับและเรือนรับรองเท่านั้น ส่วนอาคารอื่นๆได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมต่อมาในภายหลัง   ภายในพระตำหนักฯ มีสถานที่น่าชม ดังนี้ เรือนปีกไม้  พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เรือนรับรอง พลับพลาผาหมอนและสวนเฟิร์น  อ่างเก็บน้ำ พระตำหนักต่างๆ และหอพระ โดยระหว่างเส้นทางเยี่ยมชมจะผ่านสวนกุหลาบเป็นระยะ

อุทยานหลวงราชพฤกษ์

อุทยานหลวงราชพฤกษ์  หรือชื่อเดิมว่า สวนเฉลิมพระเกียรติ ราชพฤกษ์ จัดสร้างขึ้นเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 พรรษาในวันที่ 9 มิถุนายน 2549 และทรงเจริญพระชนมายุครบ 80 พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ศูนย์กลางการเรียนรู้พืชสวนโลก มีการจัดแสดงพันธุ์ไม้หลากหลายชนิด การจัดแสดงนิทรรศการด้านการเกษตรและอื่น ๆ เพื่อการเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป เพื่อการศึกษางานวิจัย และเป็นแหล่งพบปะกันในกลุ่มเกษตรกร ภายในพื้นที่มีการจัดภูมิสถาปัตย์อย่างสวยงาม

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ดำเนินการภายใต้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน )ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ในพื้นที่ตำบลแม่เหียะ  ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง และตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมือง ประมาณ 10 กิโลเมตร

สวนสัตว์เชียงใหม่

ตั้งอยู่ที่ถนนห้วยแก้ว ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร ใกล้กับสวนรุกขชาติ เป็นสวนสัตว์ขนาดใหญ่มีสัตว์มากมายหลายชนิด ทั้งที่มีอยู่ในเมืองไทยและนำมาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีหมีแพนด้า ฑูตสันถวไมตรีเชื่อมความสัมพันธ์ไทย-จีน หมีโคอาล่าจากออสเตรเลีย เชียงใหม่       ซู อควาเรียม ศูนย์แสดงสัตว์น้ำมีอุโมงค์ยาว 133 เมตร สวนนกเพนกวินและสวนนกฟิ้นช์ ซึ่งเป็นนกขนาดเล็ก มีสีสันสวยงามจนได้รับการขนานนามว่าเป็น อัญมณีบินได้

วัดพระธาตุช่อแฮ

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง ตั้งอยู่เลขที่ 1 หมู่ที่ 11 ถนนช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ บนเนื้อที่ 175 ไร่ บุคคลใดที่มาเที่ยวจังหวัดแพร่แล้วจะต้องมานมัสการพระธาตุช่อแฮ เพื่อเป็นสิริมงคลกับตนเอง จนมีคำกล่าวว่า ถ้ามาเที่ยวจังหวัดแพร่ แต่ไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮเหมือนไม่ได้มาจังหวัดแพร่แพร่ การเดินทางมาเที่ยววัดพระธาตุช่อแฮ ถนนสายหลัก คือ ถนนช่อแฮ เริ่มตั้งแต่สี่แยกบ้้านทุ่ง อำเภอเมืองแพร่ ซึ่งเป็นสี่แยกใจกลางเมืองแพร่ เข้าสู่ถนนช่อแฮ และตรงไปตามถนนช่อแฮ ผ่านโรงพยายบาลแพร่ สนามบินจังหวัดแพร่ หมู่บ้านเหล่า หมู่บ้านนาจักร หมู่บ้านแต(กวีรัตน์) หมู่บ้านมุ้ง สถานที่ตั้งของวัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง อยู่ในบริเวณเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ ด้วยระยะทาง 9 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดแพร่

บ้านประทับใจ (บ้านเสาร้อยต้น)

ตั้งอยู่เลขที่ 59 หมู่ 13 ตำบลป่าแมต ไปตามทางหลวงหมายเลข 1023 (แพร่ – ลอง) สร้างสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2519 เป็นบ้านไม้สักทั้งหลังโดยใช้ไม้สักท่อนขนาดใหญ่ตั้งเป็นเสาบ้านรวม 130 ต้น แต่ละเสามีอายุประมาณ 300 ปี แกะสลักอย่างประณีตวิจิตรบรรจง ตัวบ้านเป็นแบบทรงไทยประยุกต์ มีเนื้อที่ถึง 1 ไร่เศษ เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น. อัตราค่าเข้าชม คนไทย 15 บาท คนต่างชาติ 20 บาท

Leave a comment